อัตราหรือสัดส่วนของผู้มีสิทธิสืบมรดก

1. บิดา

บิดามี 3 สภาพ ดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/6 จากกองมรดกในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรชายหรือบุตรของบุตรชาย (หลานชาย) หรือบุตรของบุตรของบุตรชาย (เหลนชาย ฯลฯ) ร่วมอยู่ด้วย

ได้รับ 1/6 และส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ในกรณีที่ผู้ตายมีแต่บุตรสาวของบุตรชาย (เหลนสาว) หรือบุตรสาวของบุตรชายของบุตรชาย (เหลนสาว) ร่วมอยู่ด้วย

ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ในกรณีที่ผู้ตายไม่มีบุตรไม่ว่าชายหรือหญิงหรือหลานชายหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายของผู้ตาย

มารดา

มารดามี 3 สภาพดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/6 จากกองมรดกในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรชายหรือบุตรสาวคนเดียวหรือหลายคนก็ตามหรือมีหลานชายหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายหรือมีพี่น้องผู้ชายตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือมีพี่น้องผู้หญิงตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (ไม่ว่าจะร่วมบิดามารดากับผู้ตายหรือไม่ก็ตาม)
ได้รับ 1/3 ในกรณีที่ผู้ตายไม่มีบุตรชายหรือบุตรสาวหรือหลานชายหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายหรือไม่มีพี่น้องผู้ชายตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปหรือพี่น้องหญิงตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (ไม่ว่าร่วมบิดามารดากับผู้ตายหรือไม่ก็ตาม)
ได้รับ 1/3 จากส่วนที่เหลือ (อัลบากี) ในกรณีที่ผู้ตายมีแต่สามีและบิดาหรือภรรยาและบิดาร่วมอยู่ด้วย ทั้งนี้ มีหลักฐานระบุเอาไว้ในอัลกุรฺอานว่า :- (وَلأَبَوَيْهِ لِكُلِّ مِنْهُمَا السُّدُسُ مِمَّا تَرَكَ إِن كَانَ لَه وَلَدٌ ، فَإِن لَمْ يَكُن لَه وَلَدٌ وَوَرِثَهُ أَبَوَاهُ فَلأُمِّهِ الثُّلُثُ ، فَإِنْ كَانَ لَهُ إِخْوَةٌ فَلأُمِّهِ السُّدُسُ… الآية) “และสำหรับบิดามารดาของเขานั้น แต่ละคนจากทั้งสองนั้นจะได้หนึ่งในหกจากสิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้หากเขามีบุตร ดังนั้นถ้าหากเขาไม่มีบุตรและบิดามารดาทั้งสองของเขาได้สืบมรดกของเขาแล้ว มารดาของเขาก็ได้หนึ่งในสามนั้น ดังนั้นถ้าหากเขามีพี่น้องหลายคน มารดาของเขาก็ได้หนึ่งในหกนั้น” (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 11)
ปู่

ปู่มี 4 สภาพดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/6 จากกองมรดก ในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรชายหรือหลานชายอันเกิดจากบุตรชายร่วมอยู่ด้วย
ได้รับ 1/6 และส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ในกรณีที่ผู้ตายมีแต่บุตรสาวหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายร่วมอยู่ด้วย
ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ในกรณีที่ผู้ตายไม่มีบุตรชายหรือบุตรสาวหรือหลานชายหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชาย
ไม่มีสิทธิรับมรดก ถ้ามีบิดาของผู้ตายร่วมอยู่ด้วย
4. ย่า, ยาย

ย่า, ยายมี 2 สภาพดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/6 (ในกรณีที่มีทั้งย่าและยายให้แบ่งกันคนละครึ่งในอัตราส่วนนี้)
ก.ยายถูกกันสิทธิ (มะฮฺญูบะฮฺ) ในกรณีที่ผู้ตายมีมารดา
ข.ย่าถูกกันสิทธิ (มะฮฺญูบะฮฺ) ในกรณีที่ผู้ตายมีบิดา
5. สามี

สามีมี 2 สภาพ ดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/2 จากกองมรดก ในกรณีที่ผู้ตายไม่มีบุตรชายหรือบุตรสาวไม่ว่าจะเป็นบุตรที่เกิดจากสามีหรือผู้อื่นแม้กระทั่งบุตรที่เกิดนอกสมรสก็ตามหรือไม่มีหลานชายหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชาย ฯลฯ ร่วมอยู่ด้วย

ได้รับ 1/4 ในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรชายหรือบุตรสาวไม่ว่าจะเป็นบุตรที่เกิดจากสามีหรือผู้อื่นก็ตามหรือมีหลานชายหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายร่วมอยู่ด้วย ดังหลักฐานในอัลกุรฺอานระบุว่า : (وَلَكُمْ نِصْفُ مَا تَرَكَ أَزْوَاجُكُمْ إِن لَمْ يَكُن لَهُنَّ وَلَدٌ فَإِن كَانَ لَهُنَّ وَلَدٌ فَلَكُمُ الرُّبُعُ مِمَّا تَرَكْنَ…. الآية) “และสำหรับพวกเจ้านั้นคือครึ่งหนึ่งของสิ่งที่บรรดาภรรยาของพวกเจ้าได้ทิ้ง ไว้หากไม่ปรากฏว่าพวกนางมีบุตร ดังนั้นหากปรากฏว่าพวกนางมีบุตร พวกเจ้าก็ได้หนึ่งในสี่จากสิ่งที่พวกนางได้ทิ้งไว้” (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 12)

6. ภรรยา

ภรรยามี 2 สภาพ ดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/4จากกองมรดกในกรณีที่กรณีที่ผู้ตายไม่มีบุตรชายหรือบุตรสาวไม่ว่าบุตรนั้นจะเกิดจากนางหรือจากผู้อื่นหรือไม่มีหลานชายหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายร่วมอยู่ด้วย

ได้รับ 1/8 ในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรชายหรือบุตรสาวไม่ว่าบุตรนั้นจะเกิดจากนางหรือจากผู้อื่นหรือมีหลานชายหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายร่วมอยู่ด้วย ทั้งนี้มีหลักฐานระบุไว้ในอัลกุรฺอานว่า : (وَلَهُنَّ الرُّبُعُ مِمَّا تَرَكْتُمْ إِن لَمْ يَكُن لَكُمْ وَلَدٌ فَإِنْ كَانَ لَكُمْ وَلَدٌ فَلَهُنَّ الثُّمُنُ مِمَّا تَرَكْتُم) “และสำหรับพวกนางนั้นคือหนึ่งในสี่จากสิ่งที่พวกเจ้าได้ทิ้งไว้ หากไม่ปรากฏว่าพวกเจ้ามีบุตร ดังนั้นหากปรากฏว่าพวกเจ้ามีบุตร พวกนางก็ได้หนึ่งในแปดจากสิ่งที่พวกเจ้าได้ทิ้งไว้” (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 12)

7. พี่น้อง (ชายหรือหญิง) ร่วมมารดา

พี่น้อง (ชายหรือหญิง) ร่วมมารดากับผู้ตายมี 3 สภาพดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/3 ในกรณีที่มีพี่น้องร่วมมารดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง และให้แบ่งส่วนเท่าๆกัน (ตามรายหัว) จากอัตราส่วน 1/3 นั้น โดยไม่มีการแบ่งแยกระหว่างชายหญิง

ได้รับ 1/6 ในกรณีที่มีพี่น้องร่วมมารดาเพียงคนเดียวไม่ว่าชายหรือหญิง

ถูกกันสิทธิ (มะฮฺญูบูน) ในกรณีที่ผู้ชายมีบุตรชายหรือบุตรสาวหรือหลานชายหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายหรือมีบิดาหรือปู่ร่วมอยู่ด้วย ทั้งนี้มีหลักฐานระบุในอัลกุรฺอานว่า : ” فَإِنْ كَانُوَاْ أَكْثَرَ مِنْ ذلِكَ فَهُمْ شُرَكَاءُ فِى الثُّلُثِ ” “ดังนั้นหากปรากฏพวกเขามีจำนวนมากกว่านั้น พวกเขาก็ร่วมกันในหนึ่งส่วนสามนั้น” (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 12)

และดำรัสที่ว่า : “وَإِنْ كَانَ رَجُلٌ يُورَثُ كَلاَلَةً أَو امْرَأَةٌ وَلَه أَخٌ أَوْ أُخْتٌ فَلِكُلِّ وَاحِدٍ مِنْهُمَا السُّدُسُ”
“และถ้ามีชายคนหนึ่งหรือหญิงคนหนึ่งถูกรับมรดกในฐานะเป็นผู้ที่ไม่มีบิดาและ บุตร แต่เขามีพี่ชายหรือน้องชายคนหนึ่งหรือมีพี่สาวหรือน้องสาวคนหนึ่ง ดังนั้นแต่ละคนจากสองคนนั้น (คือเพียงคนเดียว) ได้รับหนึ่งในหก” (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 12)

8. บุตรสาว

บุตรสาวมี 3 สภาพ ดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/2 จากกองมรดก ในกรณีที่มีคนเดียว (เป็นบุตรสาวคนเดียวของผู้ตาย)

ได้รับ 2/3 ในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรสาวตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (โดยผู้ตายไม่มีบุตรชายร่วมอยู่ด้วย) และให้แบ่งในระหว่างพวกนางเท่า ๆ กันจากอัตราส่วนสองในสามนั้น

ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรชาย (คือพี่ชายหรือน้องชายของบุตรสาว) จะคนเดียวหรือหลายคนก็ตามร่วมรับมรดกด้วย โดยให้ชายสองส่วน หญิงหนึ่งส่วน ดังมีหลักฐานในอัลกุรฺอานระบุว่า :

“يُوصِيكُمُ الله فِى أَوْلاَدِكُمْ لِلذَّكَرِ مِثْلُ حَظِّ الأُنْثَيَيْنِ فَإِن كُنَّ نِسَاءً فَوْقَ اثْنَتَيْنِ فَلَهُنَّ ثُلُثَا مَا تَرَكَ ، وَإِنْ كَانَتْ وَاحِدَةً فَلَهَا النِّصْفُ”
“พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงสั่งพวกเจ้าไว้ในหมู่ลูกๆของพวกเจ้าว่า สำหรับเพศชายนั้นจะได้รับเท่ากับส่วนได้ของเพศหญิงสองคน ดังนั้นถ้าหากลูกๆเป็นหญิงเกินกว่าสองคน พวกนางก็ได้สองในสามของสิ่งที่พวกเขาได้ทิ้งไว้ และถ้าปรากฏว่าลูกเป็นหญิงเพียงคนเดียว นางก็ได้ครึ่งหนึ่ง” (สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 11)

9. หลานสาวอันเกิดจากบุตรชาย

หลานสาวมี 5 สภาพ ดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/2 ในกรณีที่มีคนเดียว

ได้รับ 2/3 ในกรณีที่มีพี่น้องผู้หญิงตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือมีลูกพี่ลูกน้องรับมรดกด้วย

ได้รับ 1/6 ในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรสาวร่วมอยู่ด้วยหนึ่งคน โดยบุตรสาวของผู้ตายได้ครึ่งหนึ่งตามอัตราส่วนที่ถูกกำหนดให้กับนาง และหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายนั้นได้หนึ่งส่วนหกเป็นการเติมเต็มอัตราส่วนสองส่วนสาม (ตักมิละฮฺ อัสสุลุสัยน์)

ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ในกรณีที่มีพี่ชายหรือน้องชายหรือลูกพี่ลูกน้องชายร่วมอยู่ด้วย

ถูกกันสิทธิ ในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรชายหรือบุตรสาวตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และไม่มีพี่ชายหรือน้องชายหรือลูกพี่ลูกน้องชาย ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ร่วมกับนาง

ในกรณีที่หลานสาวอันเกิดจากบุตรชายได้รับครึ่งหนึ่งจากกองมรดกนั้นมีหลักฐานจาก อัล-อิจญ์มาอฺ ที่ระบุว่า : “แท้จริงบุตรของบุตรชายไม่ว่าเป็นชายหรือหญิงย่อมแทนตำแหน่งของบุตรชายในเรื่องมรดก” และหลักฐานในการรับมรดกสองในสามสำหรับหลานสาวที่มีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปนั้นคือการกิยาสกับบรรดาบุตรสาวหรือเข้าอยู่ภายใต้ถ้อยคำว่า “บุตรสาว” (บะนาตฺ)

และมีหลักฐานที่ระบุว่า ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฏ.) ได้ถูกถามถึงมรดกของบุตรสาวและหลานสาว ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฏ.) กล่าวว่า “ฉันจะตัดสินตามที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้ตัดสินไว้ คือ บุตรสาวได้ครึ่งหนึ่ง และหลานสาวได้หนึ่งส่วนหกเพื่อเติมเต็มอัตราส่วนสองในสาม” (บุคคอรี – 6355-)

10. พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดา

พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดามี 6 สภาพ ดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/2 จากกองมรดก ในกรณีที่มีคนเดียว

ได้รับ 2/3 ในกรณีที่มีพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาร่วมอยู่ด้วย จะมีจำนวนกี่คนก็ตาม

ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ร่วมกับผู้อื่น (มะอัลฆ็อยฺร์) คือในกรณีที่มีพี่สาวหรือน้องสาว (จะมีกี่คนก็ตาม) และมีบุตรสาวหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายของผู้ตายร่วมอยู่ด้วย

ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) เนื่องด้วยมีผู้อื่น (บิล-ฆ็อยฺร์) คือมีพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดา (จะมีกี่คนก็ตาม) โดยแบ่งให้ชาย 2 ส่วน หญิง 1 ส่วน

ได้รับมรดกร่วมกับบรรดาพี่น้องชายหญิงร่วมมารดาในอัตราส่วนที่ถูกกำหนดแน่นอนแก่ฝ่ายหลังโดยถือว่า เป็นบุตรของมารดาคนเดียวกัน หรือ มุชัรฺเราะกะฮฺ เรียกปัญหามรดกกรณีนี้ว่า มัสอะละฮฺ มุชตะรอกะฮฺ (ﻣﺴﺌﻠﺔ مُشْتَرَكَةٌ) ซึ่งท่านอุมัร (ร.ฏ.) ได้ตัดสินให้พี่น้องร่วมบิดามารดามีส่วนร่วมในหนึ่งส่วนสามที่ถูกกำหนดให้บรรดาพี่น้องร่วมมารดา (ดร.ยูซุฟ กอซิม,อัลวะญีซฺ ฟิลมีรอซฺ วัล ว่าศียะฮฺ หน้า 113,114)

ถูกกันสิทธิ (มะฮฺญูบาตฺ) ในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรหรือหลานชายอันเกิดจากบุตรชาย ฯลฯ หรือมีบิดาของผู้ตายร่วมอยู่ด้วย พระองค์อัลลอฮฺทรงมีดำรัสว่า :

(يَسْتَفْتُونَكَ قُلِ الله يُفْتِيكُمْ فِي الْكَلاَلَةِ ، إِنِ امْرُؤٌ هَلَكَ لَيْسَ لَهُ وَلَدٌ وَلَه أُخْتٌ فَلَهَا نِصْفُ مَا تَرَكَ ، وَهُوَ يَرِثُهَا إِن لَمْ يَكُنْ لَهَا وَلَدٌ ، فَإِن كَانَتَا اثْنَتَيْنِ فَلَهُمَا الثُّلُثَانِ مِمَّا تَرَكَ ، وَإِن كَانُواْ إِخْوَةً رِجَالاً وَنِسَاءً فَلِلذَّكَرِ مِثْلُ حَظِّ الأُنثَيَيْنِ…الآية)

“พวกเขาจะขอให้เจ้าชี้ขาดปัญหา จงกล่าวเถิดว่า อัลลอฮฺจะทรงชี้ขาดให้แก่พวกเจ้าในเรื่องของผู้เสียชีวิตที่ไม่มีบิดาและ บุตรกล่าวคือ ถ้าชายผู้หนึ่งตายโดยที่เขาไม่มีบุตรแต่มีพี่สาวหรือน้องสาวคนหนึ่งนางก็ได้ ครึ่งหนึ่งของสิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้ โดยที่เขาก็จะรับมรดกของนาง หากไม่ปรากฏว่านางมีบุตร ดังนั้นหากปรากฏมีพี่สาวหรือน้องสาวสองคน ทั้งสองนั้นก็ได้ สองในสามจากสิ่งที่เขาได้ทิ้งไว้และหากปรากฏว่าพวกเขาเป็นพี่น้องหลายคนทั้ง ชายและหญิง ดังนั้นสำหรับชายก็ได้รับเท่ากับส่วนได้ของหญิงสองคน…”
(สูเราะฮฺ อัน-นิสาอฺ อายะฮฺที่ 176)

ดังนั้นในกรณีที่เจ้าของมรดกมีผู้สืบมรดก ดังต่อไปนี้

สามี
มารดา
พี่น้องร่วมมารดากับผู้ตายตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
พี่น้องร่วมบิดามารดากับผู้ตาย เป็นหญิงและชายหรือชายล้วน ซึ่งได้ส่วนที่เหลือ ให้ถือว่าพี่น้องร่วมบิดามารดากับผู้ตาย เป็นพี่น้องร่วมมารดากับผู้ตาย ซึ่งเรียกว่า ปัญหามรดกกินร่วม (มุชัรเราะกะฮฺ)

นางอามินะฮฺ เสียชีวิต ทิ้งทรัพย์สินมรดกเอาไว้ จำนวน 12,000 บาท มีผู้มีสิทธิสืบมรดก คือ สามี มารดา พี่น้องร่วมมารดา 2 คนขึ้นไป และมีพี่น้องร่วมบิดามารดากับผู้ตายเป็นชายล้วน หรือ หญิงกับชาย

วิธีแบ่งมรดก

ส่วนเต็ม = 6

ผู้มีสิทธิสืบมรดก

อัตราส่วน

ส่วนที่ได้รับ

จำนวนเงิน

สามี

1/2

3

6,000

มารดา

1/6

1

2,000

พี่น้องร่วมมารดา
2 คนขึ้นไป

1/3

2

4,000

จำนวนเงินทั้งหมด 12,000 บาท

ส่วนเต็ม 6 ส่วน

แต่ละส่วน = 12,000 ÷ 6 = 2,000 บาท

ฉะนั้น สามีได้รับ 3 ส่วน เป็นเงิน 6,000 บาท

มารดาได้รับ 1 ส่วน เป็นเงิน 2,000 บาท

พี่น้องร่วมมารดา 2 คนขึ้นไปได้รับ 2 ส่วนเป็นเงิน 4,000 บาท

หมายเหตุ

เดิมพี่น้องร่วมบิดามารดากับผู้ตายได้รับส่วนที่เหลือ (อะเศาะบะฮฺ) แต่เนื่องจากไม่มีส่วนเหลือ จึงให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นพี่น้องร่วมมารดา จึงมีสิทธิได้รับหนึ่งในสามร่วมกันกับพี่น้องร่วมมารดาโดยแบ่งเท่า ๆ กัน

11. พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดา

พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามี 6 สภาพ ดังต่อไปนี้

ได้รับ 1/2 ในกรณีที่มีเพียงคนเดียว
ได้รับ 2/3 ในกรณีที่มีพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดากับนางร่วมอยู่ด้วย
ได้รับ 1/6 ในกรณีที่ผู้ตายมีพี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดาร่วมอยู่ด้วย 1 คน
ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ในกรณีที่มีพี่ชายหรือน้องชายของนางร่วมอยู่ด้วย (โดยแบ่งให้ชาย 2 ส่วน หญิง 1 ส่วน)
ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ในกรณีที่บุตรสาวหรือหลานสาวอันเกิดจากบุตรชายร่วมอยู่ด้วย (โดยนางได้รับส่วนเหลือหลังจากแบ่งให้บุตรสาวหรือหลานสาว)
ถูกกันสิทธิในกรณีดังต่อไปนี้
มีพี่สาวหรือน้องสาวของผู้ตาย 2 คนขึ้นไป แต่ถ้ามีพี่ชายหรือน้องชายร่วมอยู่ด้วย ก็ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ)
มีพี่ชายหรือน้องชายร่วมบิดามารดากับผู้ตายร่วมอยู่ด้วย
พี่สาวหรือน้องสาวร่วมบิดามารดากับผู้ตายเป็นผู้ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ)
มีบุตรชายหรือหลานชายอันเกิดจากบุตรชาย ฯลฯ หรือ บิดาของผู้ตาย
12. ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ)

ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ เรียกในภาษาอาหรับว่า อะเศาะบะฮฺ (عَصَبَةٌ) ตามหลักภาษา คำว่า (อะเศาะบะฮฺ) หมายถึง พรรคพวกของบุคคลซึ่งจะให้การสนับสนุนบุคคลผู้นั้นในยามวิกฤติตลอดจนให้การปกป้องบุคคลผู้นั้น

ส่วนความหมายตามหลักวิชาการแบ่งมรดกนั้น คำว่า อะเศาะบะฮฺ หมายถึง บรรดาญาติฝ่ายชายที่ใกล้ชิดกับผู้ตายโดยสืบถึงผู้ตายจากทางบิดา ซึ่งพวกเขาจะได้รับส่วนเหลือจากกองมรดกหลังจากแบ่งให้แก่บรรดาผู้มีสิทธิรับมรดกตามอัตราส่วนที่ถูกกำหนดไว้ (อัศฮาบุล-ฟัรฎ์) เรียบร้อยแล้วและพวกเขาจะได้รับกองมรดก ในกรณีเมื่อมีประเภทเดียวและไม่มีผู้รับตามอัตราส่วนที่ถูกกำหนดจากกองมรดก (อัศฮาบุล-ฟัรฎ์) อยู่เลย

ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) มี 3 ประเภท คือ :-

1. ผู้ได้รับส่วนเหลือโดยตนเอง (อะเศาะบะฮฺ-บินนัฟฺซิ) คือ ผู้ที่สืบเชื้อสายถึงผู้ตาย โดยไม่มีสตรีมาคั่นระหว่างเขาผู้นั้นกับผู้ตาย อันได้แก่ ผู้มีสิทธิในกองมรดกที่เป็นเพศชายนอกจากสามีและพี่น้องชายร่วมแต่มารดาเดียวกัน เพราะบุคคลทั้งสองจะได้รับเฉพาะส่วนแบ่งที่กำหนดไว้ให้เท่านั้น และบุคคลทั้งสองไม่ใช่ผู้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) แต่อย่างใด

ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือโดยตนเอง (อะเศาะบะฮฺ บินนัฟฺซิ) มี 4 ฝ่าย คือ

ฝ่ายบุตร : ได้แก่บุตรหลานที่เป็นชายของผู้ตาย เช่น บุตรชาย,หลานชายที่เกิดจากบุตรชาย แม้จะต่ำชั้นลงมา
ฝ่ายบิดา : ได้แก่บรรพบุรุษของผู้ตาย เช่น บิดาและปู่
ฝ่ายพี่น้อง : ได้แก่บุตรชายหรือหลานชายของบิดาผู้ตาย โดยไม่มีสตรีเข้ามาคั่นระหว่างเขากับผู้ตาย เช่น พี่น้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน,พี่น้องชายร่วมแต่บิดาเดียวกันหรือบุตรชายของพี่น้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน,บุตรชายของพี่น้องชายร่วมแต่บิดาเดียวกัน
ฝ่ายลุง : ได้แก่บุตรชายหลานชายของปู่ผู้ตาย โดยไม่มีสตรีเข้ามาคั่นระหว่างเขากับผู้ตาย เช่น ลุงที่ร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย,ลุงที่ร่วมแต่บิดาเดียวกับบิดาผู้ตาย,บุตรชายของลุงที่ร่วมบิดามารดาเดียวกับบิดาผู้ตาย,บุตรชายของลุงที่ร่วมแต่บิดาเดียวกับบิดาผู้ตาย
หลักเกณฑ์ในการสืบมรดกของผู้ที่ได้รับส่วนเหลือโดยตนเอง มีดังต่อไปนี้

ทายาทที่อยู่ในฝ่ายหลังจะไม่ได้สืบมรดก ตราบที่ยังมีทายาทในฝ่ายก่อน ดังนั้นทายาทฝ่ายบิดาจะไม่ได้สืบมรดกในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ถ้าหากยังมีทายาทฝ่ายบุตรชายหรือหลานชายอยู่, ทายาทฝ่ายพี่น้องจะไม่ได้สืบมรดกในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ถ้าหากยังมีทายาทฝ่ายบิดาอยู่, ทายาทฝ่ายลุงจะไม่ได้สืบมรดกในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ถ้าหากยังมีทายาทฝ่ายบิดาอยู่, ทายาทฝ่ายลุงจะไม่ได้สืบมรดกในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) ถ้าหากยังมีทายาทฝ่ายพี่น้องอยู่

ถ้าหากมีญาติใกล้ชิดหลายคนอยู่ในฝ่ายเดียวกัน เช่น บิดากับปู่ หรือบุตรชายกับหลานชายหรือพี่น้องชายกับบุตรชายของพี่น้องชายหรือลุงกับบุตรชายของลุง ดังนั้น ผู้ที่เป็นทายาทห่างจากผู้ตายจะไม่ได้สืบมรดก ถ้าหากมีทายาทที่ชิดใกล้กับผู้ตายมากกว่า ดังนั้นปู่จะไม่ได้สืบมรดกถ้าหากยังมีบิดาอยู่,หลานชายจะไม่ได้สืบมรดก ถ้าหากยังมีบุตรชายอยู่เป็นต้น

ถ้าหากมีญาติใกล้ชิดอยู่หลายคนอยู่ในฝ่ายเดียวกันและแต่ละคนก็มีศักดิ์ชั้นเท่าเทียมกัน แต่แตกต่างกันในความเข้มของสายเลือด ผู้ที่มีสายเลือดเข้มกว่าย่อมเป็นผู้ได้รับมรดกก่อนผู้มีสายเลือดอ่อนกว่า ดังนั้นพี่น้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกัน ย่อมได้สืบมรดกก่อนพี่น้องชายร่วมแต่บิดาเดียวกัน ลุงที่ร่วมบิดามารดากับบิดาของผู้ตายจะได้สืบมรดกก่อนลุงที่ร่วมแต่บิดาเดียวกับบิดาผู้ตาย เป็นต้น (อัลฟิกฮุลมันฮะญีย์ 5/99,100)

2. ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือโดยอาศัยผู้อื่น (อะเศาะบะฮฺ บิลฆอยฺร์) ได้แก่ ทายาทผู้หญิงทุกคนที่มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งที่ถูกกำหนดจากกองมรดก เมื่อมีพี่น้องชายของนางร่วมอยู่ด้วย ทายาทผู้หญิงนั้นจะกลายเป็นผู้ที่ได้รับส่วนเหลือ (อะเศาะบะฮฺ) โดยอาศัยพี่น้องชายของนาง เช่น บุตรหญิงกับบุตรชาย,พี่น้องหญิงร่วมบิดามารดากับพี่น้องชายร่วมบิดามารดา เป็นต้น โดยผู้ชายได้รับ 2 ส่วน ผู้หญิงได้รับ 1 ส่วน

ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือโดยอาศัยผู้อื่น จำกัดอยู่เฉพาะทายาทที่มีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งสองในสามกับครึ่งหนึ่ง เมื่ออยู่ร่วมกับพี่น้องชายของพวกเขา ซึ่งได้แก่ :-

บุตรหญิง เมื่ออยู่พร้อมกับบุตรชาย

หลานหญิงเมื่ออยู่พร้อมกับหลานชาย

พี่น้องหญิงร่วมบิดามารดา เมื่ออยู่พร้อมกับพี่น้องชายร่วมบิดามารดา

พี่น้องหญิงร่วมแต่บิดาเดียวกัน เมื่ออยู่พร้อมกับพี่น้องชายร่วมแต่บิดาเดียวกัน

3. ผู้ที่ได้รับส่วนเหลือร่วมกับผู้อื่น (อะเศาะบะฮฺ มะอัลฆ็อยฺร์) ได้แก่ พี่น้องหญิงร่วมบิดามารดา หรือพี่น้องหญิงร่วมแต่บิดา เมื่ออยู่พร้อมกับบุตรหญิงหรือหลานสาว

ดังนั้นถ้าหากผู้ตายได้ทิ้งทายาทที่เป็นบุตรหญิงสองคนกับพี่น้องหญิงร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาอีกหนึ่งคน บุตรหญิงสองคนนั้น จะได้รับส่วนแบ่งสองในสามจากกองมรดก และพี่น้องหญิงร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาจะได้รับมรดกส่วนที่เหลือทั้งหมดคือหนึ่งในสาม

และให้ใช้หลักการเช่นเดียวกันนี้ ในกรณีของพี่น้องหญิงร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหลายคน เมื่ออยู่พร้อมกับหลานสาวคนเดียวหรือหลานสาวหลายคน

หลักฐานในเรื่องนี้ คือ หะดีษที่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฏ.) ได้ถูกถามเกี่ยวกับบุตรหญิง,หลานสาวและพี่น้องหญิง ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ มัสอู๊ด (ร.ฏ.) ตอบว่า : ในเรื่องนี้ฉันจะตัดสินเช่นเดียวกับที่ท่านนบี (صلى الله عليه وسلم) ได้ตัดสินไว้ คือ : บุตรสาวได้รับครึ่งหนึ่ง,หลานสาวได้รับหนึ่งในหก และพี่น้องหญิงได้รับส่วนที่เหลือ (รายงานโดยบุคอรี -6355-)

13. ผู้ที่ไม่ถูกกันสิทธิในกองมรดกและที่ถูกกันสิทธิ

ก. ผู้ที่ไม่ถูกกันสิทธิในกองมรดกมี 5 คน คือ
บุตรชาย

บุตรสาว

บิดา

มารดา

สามี,ภรรยา

ข. ผู้ที่ถูกกันสิทธิในกองมรดก มีดังต่อไปนี้
หลานชาย ถูกกันสิทธิโดยบุตรชายของผู้ตาย
หลานสาว ถูกกันสิทธิโดยบุตรชายหรือบุตรสาวของผู้ตาย
ปู่ (บิดาของบิดา) ถูกกันสิทธิโดยบิดาของผู้ตาย
ย่า (มารดาของบิดา) ถูกกันสิทธิโดยมารดาของผู้ตาย
ยาย (มารดาของมารดา) ถูกกันสิทธิโดยมารดาของผู้ตาย
พี่น้องชายร่วมบิดามารดา ถูกกันสิทธิโดยบุตรชาย,บิดา,หลานชายของผู้ตาย
พี่น้องชายร่วมแต่บิดา ถูกกันสิทธิโดยบุตรชาย,บิดา,หลานชาย,พี่น้องชายร่วมบิดามารดาของผู้ตาย
พี่น้องชายร่วมแต่มารดา ถูกกันสิทธิโดยบิดา,ปู่,บุตรชาย,หลานชายอันเกิดจากบุตรชาย,บุตรสาวหลานสาวอันเกิดบุตรชายของผู้ตาย
พี่น้องหญิงร่วมบิดามารดา ถูกกันสิทธิโดยบุตรชาย,บิดา,หลานชายของผู้ตาย
พี่น้องหญิงร่วมแต่บิดา ถูกกันสิทธิโดยบุตรชาย,บิดา,หลานชาย,พี่น้องชายร่วมบิดามารดา,พี่น้องสาวร่วมบิดามารดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
พี่น้องสาวร่วมแต่มารดา ถูกกันสิทธิโดยบิดา ปู่ บุตรชาย หลานชายอันเกิดจากบุตรชาย,บุตรสาว,หลานสาวอันเกิดจากบุตรชายของผู้ตาย
บุตรชายของพี่น้องชายร่วมบิดามารดา ถูกกันสิทธิโดยบิดา,ปู่,บุตรชาย,หลานชายอันเกิดจากบุตรชาย,พี่น้องชายร่วมบิดามารดา,พี่น้องชายร่วมบิดา,พี่น้องสาวร่วมบิดามารดาเมื่อได้รับส่วนเหลือ
บุตรชายของพี่น้องชายร่วมแต่บิดา ถูกกันสิทธิโดยบิดา,ปู่,บุตรชาย,พี่น้องชายร่วมบิดามารดา,พี่น้องชายร่วมแต่บิดา,พี่น้องหญิงร่วมบิดามารดาเมื่อได้รับส่วนที่เหลือ,พี่น้องหญิงร่วมแต่บิดากับผู้ตายเมื่อได้รับส่วนที่เหลือ (อะเศาะบะฮฺ)
ลุงหรืออาร่วมบิดามารดาของผู้ตาย ถูกกันสิทธิโดยบิดา,ปู่,บุตรชาย,หลานชายอันเกิดจากบุตรชาย,พี่น้องชายร่วมบิดามารดา,บุตรชายของพี่น้องชายร่วมบิดาและมารดา
ลุงหรืออาร่วมแต่บิดากับบิดาของผู้ตาย ถูกกันสิทธิโดยบิดา,ปู่,บุตรชาย,หลานชายอันเกิดจากบุตรชาย,พี่น้องชายร่วมบิดามารดา,พี่น้องชายร่วมแต่บิดา,พี่น้องหญิงร่วมบิดามารดาเมื่อได้รับส่วนที่เหลือ,พี่น้องหญิงร่วมแต่บิดาเมื่อได้รับส่วนที่เหลือ,บุตรชายของพี่น้องชายร่วมบิดามารดา,บุตรชายของพี่น้องชายร่วมแต่บิดา,ลุงหรืออาร่วมบิดามารดากับบิดาของผู้ตาย
บุตรชายหรือลุงของอาร่วมบิดามารดากับบิดาของผู้ตาย ถูกกันสิทธิโดยบิดา,ปู่,บุตรชาย,หลานชาย,พี่น้องชายร่วมบิดามารดา,พี่น้องชายร่วมแต่บิดา,พี่น้องหญิงร่วมบิดามารดาเมื่อได้รับส่วนเหลือ,พี่น้องหญิงร่วมแต่บิดาเมื่อได้รับส่วนที่เหลือบุตรชายของพี่น้องชายร่วมบิดามารดา,บุตรชายของพี่น้องชายร่วมบิดากับผู้ตาย
บุตรชายของลุงหรืออาร่วมบิดากับบิดาของผู้ตาย ถูกกันสิทธิโดยบุคคลในข้อ 16 และบุตรชายของพี่น้องชายของผู้ตายที่ร่วมบิดามารดากับผู้ตาย
หมายเหตุ ถ้าหากพี่น้องหญิงร่วมบิดามารดากับผู้ตายหรือพี่น้องหญิงร่วมบิดากับผู้ตายได้รับส่วนที่เหลือร่วมกับผู้อื่นแล้ว นางก็สามารถกันสิทธิของผู้อื่นได้ดังเช่นกรณีของพี่น้องชายของนาง