ผู้มีสิทธิสืบมรดก اَلْوَارِثُ (อัล–วาริซฺ)

ทายาทผู้ตายที่เป็นชายซึ่งมีสิทธิในการสืบมรดก มีดังนี้

บุตรชายของผู้ตาย

หลานชาย เหลนชาย ฯลฯ

บิดาของผู้ตาย

ปู่ของผู้ตาย (บิดาของบิดา ฯลฯ)

พี่ชายหรือน้องชาย (ทั้งที่ร่วมบิดามารดา หรือร่วมบิดา หรือร่วมมารดากับผู้ตาย

บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชาย (ร่วมบิดามารดา)

บุตรชายของพี่ชายหรือน้องชาย (ร่วมบิดากับผู้ตาย)

อาหรือลุง (พี่ชายหรือน้องชายของบิดาที่ร่วมบิดามารดากับบิดาของผู้ตาย)

อาหรือลุง (พี่ชายหรือน้องชายของบิดาที่ร่วมบิดากับบิดาของผู้ตาย)

บุตรชายของลุงหรือของอา (บุตรของพี่ชายหรือน้องชายของบิดาที่ร่วมบิดามารดากับบิดาของผู้ตาย)

บุตรชายของลุงหรือของอา (บุตรของพี่ชายหรือน้องชายของบิดาที่ร่วมบิดากับบิดาของผู้ตาย)

สามีของผู้ตาย

ผู้ปลดปล่อยทาสให้เป็นไท (ในกรณีที่อดีตทาสที่เขาปล่อยนั้นเป็นเจ้าของมรดก)

อนึ่งถ้าบุคคลเหล่านี้ทั้งหมดมีชีวิตอยู่ในขณะแบ่งมรดกผู้มีสิทธิสืบมรดกมีเพียง บิดา ลูก และสามีของผู้ตายเท่านั้น

ทายาทผู้ตายที่เป็นหญิงซึ่งมีสิทธิในการสืบมรดก มีดังนี้

บุตรีของผู้ตาย
บุตรีของบุตรชาย (หลานสาว) หรือบุตรีของบุตรชายของบุตรชาย (เหลนสาว) ของผู้ตาย
มารดาของผู้ตาย
ย่า (มารดาของบิดา) ของผู้ตาย
ยาย (มารดาของมารดา) ของผู้ตาย
พี่สาวหรือน้องสาว (ร่วมบิดามารดาหรือร่วมมารดาหรือร่วมบิดากับผู้ตาย)
ภรรยาของผู้ตาย
นายหญิงผู้ปลดปล่อยทาสให้เป็นไท (ในกรณีที่อดีตทาสที่นางปลดปล่อยนั้นเป็นเจ้าของมรดก)
อนึ่ง ถ้าบุคคลเหล่านี้ทั้งหมดมีชีวิตอยู่ในขณะแบ่งมรดกผู้ที่มีสิทธิในการสืบมรดก คือ

บุตรีของผู้ตาย
หลานสาว (บุตรีของบุตรชาย) ของผู้ตาย
ภรรยาของผู้ตาย
มารดาของผู้ตาย
พี่สาวหรือน้องสาวที่ร่วมบิดามารดากับผู้ตาย
และถ้าหากนำผู้สืบมรดกทั้งชายและหญิงมารวมกัน ผู้ที่มีสิทธิในการสืบมรดกนั้น คือ 1. บิดาของผู้ตาย 2. มารดาของผู้ตาย 3.บุตรชายของผู้ตาย 4.บุตรีของผู้ตาย 5.สามีหรือภรรยาของผู้ตาย
อนึ่ง เกี่ยวกับผู้สืบมรดกนี้ ยังแบ่งออกเป็นผู้ที่มีสิทธิสืบมรดกตามสัดส่วนที่ถูกกำหนดแน่นอน เรียกว่า อัศหาบุล-ฟัรฎ์ (أَصْحَابُ الْفِرْضَِ) และผู้มีสิทธิสืบมรดกในส่วนที่เหลือ เรียกว่า อะเศาะบะฮฺ (اَلْعَصَبَةُ) ซึ่งสามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองเพิ่มเติมต่อไป

อัตราหรือสัดส่วนการแบ่งมรดกตามที่มีปรากฏในคัมภีร์อัลกุรฺอาน คือ

1/2 เรียกว่า นิศฟุ (نِصْفٌ)
1/4 เรียกว่า รุบฺอ์ (رُبْعٌ)
1/3 เรียกว่า สุลุสฺ (ثَلُثٌ)
2/3 เรียกว่า สุลุสานิ (ثُلُثَانِ)
1/6 เรียกว่า สุดุสฺ (سُدُسٌ)
1/8 เรียกว่า สุมุนฺ (ثُمُنٌ)